http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-04-07

นับถอยหลัง...ประชาคมอาเซียน โดย บัณฑิต หลิมสกุล

.

นับถอยหลัง...ประชาคมอาเซียน (AEC : ASEAN Economic Community)
โดย บัณฑิต หลิมสกุล (bunditlim[at]hotmail.com)
ในมติชน ออนไลน์ วันพุธที่ 06 เมษายน พ.ศ. 2554 เวลา 18:00:00 น.


สามสิบห้าปีที่แล้ว ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในภูมิภาคอาเซียน อันเป็นผลกระทบจากข้อตกลงพลาซา หรือ Plaza Accord ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและประธานธนาคารกลางของสหรัฐ ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี และญี่ปุ่น ณ โรงแรมพลาซา กรุงนิวยอร์ก ในวันที่ 22 กันยายน ค.ศ.1985

โดยการประชุมอย่างไม่เป็นทางการดังกล่าวได้บรรจุข้อตกลงร่วมในระดับทวิภาคีในการร่วมกันแทรกแซงมาตรการทางการเงินและการคลังเพื่อจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ซึ่งในกรณีของญี่ปุ่นนั้นจะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายควบคู่ไปกับการปฏิรูปภาคการเงินส่งผลให้เงินเยนของญี่ปุ่นปรับค่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

ผลจากข้อตกลง Plaza Accord ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตจากญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกมาสู่ประเทศที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงส่งให้ภูมิภาคอาเซียนมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตในอัตราสูง อันเนื่องมาจากโยกย้ายการลงทุนจากญี่ปุ่นในขณะนั้น

นับว่าในช่วงปี ค.ศ.1980-1990 เป็นทศวรรษของการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจและการผลิตในภูมิภาคอาเซียน


อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงในอดีตข้างต้นเป็นผลจากปัจจัยภายนอก มิได้เกิดขึ้นจากเจตจำนงร่วมของคนในภูมิภาคนี้ จึงแตกต่างไปจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจและการผลิตครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปี ค.ศ.2015 อันเป็นผลจากฉันทามติร่วมของอาเซียนให้จัดตั้ง "ประชาคมอาเซียน" ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จและมีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการภายในปี พ.ศ.2558

ถือว่าเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของภูมิภาคอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ เพราะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของภูมิภาคนี้ที่ประเทศสมาชิกอาเซียนมีฉันทามติให้มีการรวมตัวทางเศรษฐกิจอย่างสมบูรณ์ (economic integration)

มิติสำคัญของ "ประชาคมอาเซียน" คือการจัดตั้ง "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" (ASEAN Economic Community: AEC) ซึ่งมีนัยสำคัญมากกว่าการเป็นเพียงแค่การจัดตั้งเขตการค้าเสรี (AFTA) เพราะภายใต้ "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" นั้น นอกจากสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุนของสมาชิกอาเซียนจะไหลเวียนอย่างเสรีไม่มีอุปสรรคแล้ว การจัดตั้ง AEC ยังช่วยให้อาเซียนกลายเป็นตลาดที่มีฐานการผลิตเดียว (single market and single production base) ซึ่งถือว่ามีนัยสำคัญทางเศรษฐกิจ

เพราะเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคอันเป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตเพื่อใช้ประโยชน์จากการที่ปัจจัยการผลิตมิได้ถูกจำกัดอยู่ภายใต้พรมแดนของแต่ละประเทศ เสมือนยุคของการเปิดเสรีทางการค้าภายใต้กรอบของเขตการค้าเสรี (AFTA) ในอดีตอีกต่อไป

ภายใต้ "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" นั้น ปัจจัยการผลิตจะไหลเวียนอย่างเสรีโดยไม่มีอุปสรรคทางการค้าทั้งที่อยู่ในรูปของภาษีและโควต้า และนั่นหมายถึงการที่ผู้ประกอบการของ "ประชาคมอาเซียน" จะได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะมีฐานการผลิตอยู่ที่ใดใน "ประชาคมอาเซียน" ส่งผลให้ความแตกต่างทางสัญชาติระหว่างผู้ประกอบการในอาเซียนค่อยๆ ลดความสำคัญลง มีการลงทุนไขว้ระหว่างผู้ประกอบการในภูมิภาคนี้มากขึ้น

ในขณะที่ฐานการผลิตในประเทศที่มีต้นทุนในการลงทุนต่ำแต่มีความสามารถทางการแข่งขันสูงจะมีศักยภาพมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ภายใต้ "ประชาคมอาเซียน" ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดในการบริหารจัดการใหม่เพื่อใช้ประโยชน์จากการที่ปัจจัยการผลิตสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี ต้องมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการที่เดิมเคยจำกัดเฉพาะในประเทศของตนมาเป็นการผลิตข้ามประเทศ ต้องปรับเปลี่ยนยุทธวิธีในการทำธุรกิจโดยต้องแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจในภูมิภาค ซึ่งจะเป็นการช่วยให้มีการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ

และที่สำคัญคือต้องรีบจัดทำแผนทางธุรกิจใหม่เพื่อรองรับกับโอกาสที่ปัจจัยการผลิตสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี

หรือพูดง่ายๆ คือ ผู้ประกอบการที่จะอยู่รอดและเติบโตต่อไปได้ภายใต้ "ประชาคมอาเซียน" นั้นจำเป็นที่จะต้องเร่งปรับตัวในทุกๆ มิติ ในลักษณะที่มากกว่าเพียงแค่การปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตและการตลาดเพียงผิวเผิน หากแต่ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงในแนวลึกถึงระดับที่เป็นการปรับเปลี่ยนกรอบพื้นฐานความคิดใหม่ หรือที่เรียกว่า "paradigm shift" ซึ่งผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทั้งแนวคิดพื้นฐาน วิธีการมองปัญหา และแนวปฏิบัติ



ความจริงแล้วปรากฏการณ์ของการจัดตั้ง "ประชาคมเศรษฐกิจ" มิได้เป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทยเลย เพราะเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ในช่วงปี ค.ศ.1986-1992 ขณะที่ยุโรปกำลังอยู่ในช่วงการจัดตั้งตลาดร่วมยุโรปหรือตลาดเดียวแห่งยุโรป (The Single European Market) ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี ค.ศ.1993 นั้น ก็ได้มีการอธิบายและบรรยายเกี่ยวกับปรากฏการณ์ดังกล่าวอย่างละเอียด รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการค้าระหว่างไทยกับยุโรปมาแล้ว

แต่ข้อสนเทศเหล่านั้นมิได้ถูกนำมาสะท้อนในการจัดตั้ง "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" จึงทำให้ความเข้าใจของภาคเอกชนไทยขาดความต่อเนื่องอย่างน่าเสียดาย

ที่สำคัญคือ เรา "ลืม" ไปแล้วว่าในช่วงของการจัดตั้ง The European Single Market ผู้ประกอบการของยุโรปใช้เวลากว่า 10 ปี ในการเตรียมตัวเพื่อปรับเปลี่ยนการผลิตของตนให้มีศักยภาพในการแข่งขันเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จาก The European Single Market ได้อย่างเต็มที่ ในขณะที่เราเพิ่งเริ่มต้นกระบวนการสร้างความเข้าใจต่อผู้ประกอบการไทย ทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ถึงผลกระทบทั้งโอกาสและอุปสรรคในการทำธุรกิจภายใต้ "ประชาคมเศรษฐกิจ"

กลายเป็นว่าเรามีเวลาเหลือเพื่อเตรียมความพร้อมไม่ถึง 5 ปี ทั้งๆ ที่เคยมีประสบการณ์และเคยรับรู้กระบวนการเตรียมความพร้อมในกรณีของยุโรปมาก่อนแล้ว


ที่สำคัญคือช่วงเวลาของการจัดตั้ง "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" นี้มีนัยสำคัญอย่างมาก เพราะในช่วงปีที่ผ่านมากแม้โลกจะประสบวิกฤตทางการเงินหลายครั้ง แต่ภูมิภาคเอเชียโดยรวมยังคงเติบโตอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงพื้นฐานที่แข็งแกร่งของภูมิภาคนี้ได้อย่างดี จนกลายเป็นที่ยอมรับว่าทศวรรษนี้เป็นปีทองของภูมิภาคเอเชีย

การจัดตั้ง "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" ในช่วงนี้จึงเท่ากับเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการอย่างมาก

นอกจากนั้น การจัดตั้ง "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" นี้ยังสามารถรองรับปัญหาต้นทุนของการลงทุนในจีน ซึ่งมีการปรับเพิ่มค่าแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดการเริ่มต้นของการไหลออกของนักลงทุนจากต่างชาติในจีน ซึ่งรวมทั้งนักลงทุนชาวจีนที่เริ่มหันมาสนใจลงทุนในภูมิภาคนี้มากขึ้น จนทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคอันเป็นผลจากการจัดตั้ง "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" และมีแรงสนับสนุนจากการปรับเปลี่ยนทิศทางการลงทุนจากจีน จะทำให้ทศวรรษหน้ากลายเป็นทศวรรษของอาเซียนอย่างแท้จริง


ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับความพร้อมของภาคเอกชนไทยที่จะสามารถสร้างศักยภาพและความพร้อมในการเข้าไปตักตวงประโยชน์จากการเปิดเสรีและการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตได้ทัน

ซึ่งจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งจากภาครัฐและเอกชนเพื่อใช้ประโยชน์จากการที่ปัจจัยการผลิตสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี โดยต้องเร่งยกระดับศักยภาพของโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงภาคการผลิตและรองรับการบริหารโลจิสติคส์และการบริหารห่วงโซ่อุปทานของภาคเอกชน รวมทั้งการสร้างความเชื่อมโยงของ connectivity ในอาเซียนนั่นเอง

แต่ความสำเร็จและผลประโยชน์เหล่านี้อาจจะมาไม่ถึงผู้ประกอบการไทย หากเราไม่มีการเตรียมความพร้อมเพื่อจะรองรับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความพร้อมของ "ทุนมนุษย์" (human capital: HC) ที่ต้องมีคุณสมบัติใหม่ที่สอดคล้องกับการแข่งขันทางการค้าในบริบทของเศรษฐกิจใหม่ และการสร้าง "ทุนทางปัญญา" (intellectual capital: IC) ซึ่งเป็นที่มาของความมั่งคั่งใหม่ (new wealth) ในยุคเศรษฐกิจแห่งนวัตกรรมและสังคมแห่งการสร้างสรรค์ (innovative economy & creative society)

เพราะมิฉะนั้น เราจะกลายเป็นเพียงผู้รับจ้างทำของและขายวัตถุดิบให้กับประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายจริงๆ



.