http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-02-20

มรดกโลก มรดกเลือด มรดกเรา มรดกลวง โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.
มรดกโลก มรดกเลือด มรดกเรา มรดกลวง
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1592 หน้า 75


มรดกโลก -มรดกเลือด

แทบไม่น่าเชื่อว่าคุณค่าอันทรงเกียรติของ "มรดกโลก" ในวันนี้จักถูกเบี่ยงเบนกลายเป็นเครื่องมือนำไปรับใช้การเมืองอัปยศดังเช่น กรณีของเขาพระวิหารที่ดูทำท่าจะลุกลามเป็นสงครามมรดกโลก-มรดกเลือดเสียแล้ว

จู่ๆก็ไปหาเรื่องแหย่เขมร เพื่อคุ้ยเขี่ยถึงเบื้องหลังสายสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างฮุนเซ็นและอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ว่ามีผลประโยชน์อะไรทับซ้อนก้อนมหาศาล

ฝ่ายหนึ่งจึงเปิดไฟเขียวยินยอมให้เขมรนำเขาพระวิหารไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว

ส่วนอีกฝ่ายยอมยกเกาะกง (ประจันต์คิรีเขตต์) ให้เป็นสวนสวรรค์คาสิโน บวกกับแหล่งก๊าซธรรมชาติในทะเลให้เช่าเป็นเวลา 99 ปี

กระแสคลั่งชาติกับความหวาดระแวงของสมุนอำมาตย์ต่อตัวนายกฯ ทักษิณ ได้ถูกนำไปปั่นปลุกม็อบให้คัดค้านการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกของเขมรไม่ว่ากรณีใดๆ แม้ต้องแลกด้วยการติดคุกหรือล้างเลือด การรังแกเขมร แท้ก็คือ การตีวัวกระทบคราด หากเขมรเพลี่ยงพล้ำก็เท่ากับการพลาดท่าเสียทีของฝ่ายนายกฯ ทักษิณเช่นกัน

ซ้ำร้าย การเล่นเกมการเมืองของฝ่ายพันธมิตรฯ ที่เดิมพันด้วยชีวิตชาวบ้านตามชายแดน ภายใต้การปลุกระดมเรียกร้องลัทธิราชาชาตินิยมให้กลับมาผงาด แฝงนัยยั่วยุเปิดทางให้ทหารขับเคลื่อนรถเกราะเข้ายึดอำนาจ แถมด้วยการหาแพะตัวเขื่องอย่าง "มรดกโลก" มาฆ่าบูชายัญ เพียงเพื่อจะปกปิดความผิดฉกรรจ์ที่ตนเองทำเอาไว้เมื่อพฤษภาฟ้ามืดปีที่แล้ว

ที่น่าเศร้าใจ ผู้เป็นเหยื่อของเกมการเมืองชักเย่อ "เขาพระวิหาร" คล้ายกับเหล่าอสูร-เทพ ยื้อยุดนาคขณะกวนเกษียรสมุทรเพื่อให้ได้น้ำอมฤตทิพย์ครั้งนี้ ก็คือการยื่นยาพิษมิใช่ให้พระศิวะหรือพระกฤษณะดื่ม หากแต่เป็นองค์กรยูเนสโก

อุดมการณ์ที่แท้จริงของยูเนสโกในการเชิดชูแหล่งมรดกโลก เป็นอุดมการณ์ที่น่ายกย่องยินดี เพราะมีเจตนาช่วยปกป้องคุ้มครองดูแลแหล่งโบราณสถาน โบราณวัตถุชิ้นสำคัญอย่างเอกอุให้รอดพ้นจากเงื้อมมือมาร ทั้งจากการถูกละทิ้งให้เสื่อมสภาพตามกาลเวลา หรือโดยผู้มีอิทธิพลที่หากินกับการค้าของเก่า

ปัญหามีอยู่ว่า เมื่อฝ่ายหนึ่งอยากหาเรื่องทะเลาะกับเขมรเพื่อแทงกั๊กด้วยความหมั่นไส้หาว่า เขมรหนุนหลังคนที่พวกเขาชิงชัง เล่นกับเขมรตรงๆไม่ถนัด ขอไล่ฟาดงวงฟาดงาใส่คณะกรรมการ "มรดกโลก" เสียเลย การข่มขู่ให้ไทยถอนตัวจากประเทศภาคีมรดกโลกตามที่มีผู้เสนอนั้น เป็นความถูกต้องล่ะหรือ?

ที่ผ่านมา กว่ามรดกโลกแต่ละแหล่งจะได้รับการประกาศขึ้นทะเบียน เราต้องต่อสู้ทั้งกับตนเองและคู่แข่งชนิดเลือดตาแทบกระเด็น เพียงเพื่อให้ไทยได้มีที่อยู่-ที่ยืนอย่างผงาดบนเวทีโลก นับแต่มรดกโลกสุโขทัย มรดกโลกอยุธยา มรดกโลกบ้านเชียง มรดกโลกทุ่งใหญ่นเรศวร และมรดกโลกดงพญาเย็นเขาใหญ่

ไหนจะโครงการมรดกโลกที่กำลังเข้าตากรรมการ จ่อคิวอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนอีกหลายแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นมรดกโลกเมืองลำพูน น่าน ภูพระบาท อีสานใต้เส้นทางสายชัยวรมันที่ 7 พระธาตุลำปางหลวง หรือพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช

ไปๆ มาๆ โครงการเหล่านี้ต่างต้องหยุดชะงักเหยียบเบรกกันเอี๊ยดอ๊าดแทบไม่ทัน แถมยังตกเป็นจำเลยของสังคมโดยใช่เหตุ

จริงอยู่ ในสายตาของฝ่ายไม่เอามรดกโลก อาจมองว่ามรดกโลกเป็นตัวสร้างปัญหา เช่น ความไม่สามารถบริหารจัดระเบียบร้านค้าของแหล่งมรดกโลกอยุธยาจนเกิดทัศนอุจาด ดูทุเรศทุรัง

สภาพน้ำท่วมขังโครงกระดูกที่แหล่งมรดกโลกบ้านเชียงจนขึ้นเชื้อรา

หรือการที่ชาวสุโขทัยถูกเวนคืนที่ดิน ต้องอพยพออกนอกพื้นที่อุทยานเมืองเก่าของแหล่งมรดกโลกสุโขทัย

ภาพที่ไทยถูกตักเตือนจากยูเนสโกอย่างเข้มงวดคล้ายลูกแมวเชื่องๆ ที่ต้องจำยอมจัดการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นอย่างหวานอมขมกลืน อาจทำให้นักวิชาการมองว่า "มรดกโลกทำให้เราตกอยู่ภายใต้อาณานิคมทางความคิดของยูเนสโก"

แต่เมื่อพลิกมุมกลับแล้ว หากไม่มีมาตรฐานการบริหารจัดการแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมในระดับสากลตามที่ยูเนสโกใช้กับมรดกโลก

โบราณสถานและแหล่งโบราณคดีของไทยและทั่วโลก โดยเฉพาะแถบอุษาคเนย์อย่างนครวัด หลวงพระบาง บุโรพุทโธ ฮอยอัน ฮาลองเบย์ จักไม่ถูกปู้ยี่ปู้ยำจนเละตุ้มเป๊ะยิ่งไปกว่านี้ดอกหรือ



มรดกเรา-มรดกโลก

คนที่ประกาศว่ามรดกโลกเป็นการยัดเยียดกรอบความคิดให้เราเป็นข้าทาสชาวตะวันตก โดยยูเนสโกเป็นผู้ฉกฉวยผลประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวอย่างมหาศาลนั้น ช่างเป็นความคิดที่ไร้เดียงสายิ่งนัก สะท้อนให้เห็นว่าคนพูดนั้นไม่เคยศึกษาเรียนรู้กระบวนการผลักดันโครงการใดๆ สู่มรดกโลกมาก่อนเลย

ยูเนสโกทำหน้าที่เพียงแค่วางกรอบ กฎเกณฑ์ กติกา เพื่อกำกับความชัดเจนของมาตรฐานคุณภาพแหล่งที่ขอเสนอเป็นมรดกโลก ภายใต้เงื่อนไขที่ระบุชัดว่า "แผนบริหารจัดการมรดกโลกในท้องถิ่นนั้นๆ ต้องได้มาจากกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนทุกภาคส่วนอย่างเข้มแข็ง มิใช่ให้ภาครัฐหรือยูเนสโกยัดเยียดแผนแม่บทให้ มิฉะนั้นจะไม่เกิดความยั่งยืน"

หรืออีกข้อคือ "หากแหล่งมรดกโลกใดไม่สามารถควบคุมการไหลบ่าของนักท่องเที่ยวปริมาณมากเกินไปได้ แหล่งมรดกโลกนั้นจะถูกถอนคืนทันที เพราะเป้าหมายของมรดกโลกคือการเชิดชูอัจฉริยภาพของศิลปกรรม ไม่ใช่เพื่อทำให้เกิดความโลภ"

เห็นได้ว่าเจตน์จำนงของยูเนสโกนั้นชัดเจนและสวนทางกับการตั้งแง่กล่าวหาโดยสิ้นเชิง การเอากรอบมาวาง แท้ก็คือการบังคับให้เกิดการอนุรักษ์ตามสภาพเดิม อย่าผิดเพี้ยนเปลี่ยนรูปแบบใหม่ มิใช่ว่ายูเนสโกเอาเงินมาหว่านซื้อแหล่งมรดกโลกเพื่อหากินกับนักท่องเที่ยว แล้วบังคับให้คนในท้องถิ่นต้องหมอบคลานกราบไหว้ชาวตะวันตก ในฐานะแม่บ้าน-คนสวนดูแลโรงแรม ช่างเป็นความเข้าใจที่ผิดมหันต์

โดยเนื้อแท้แล้ว การเป็นเมืองมรดกโลก มิใช่หวังผลทางการท่องเที่ยวเป็นตัวตั้ง หากมันคือผลพลอยได้ เพราะเมื่อมีการพัฒนาเมืองโบราณให้น่ามอง ใครๆ ก็อยากไปเยี่ยมชม มันผิดตรงไหนหรือ หากแหล่งมรดกโลกสามารถแปรคุณค่าให้เกิดมูลค่า กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ช่วยกระจายรายได้ให้แก่ชุมชนและท้องถิ่นในทุกมิติอย่างยั่งยืน

ควรทำความเข้าใจเสียใหม่ว่า เรากำลังอาศัย "มรดกโลก" เป็น "กุศโลบาย" ในการพลิกฟื้นประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่กำลังหลับไหลและถูกกลบฝัง หาใช่กระสันอยากได้มรดกโลกจนตัวสั่น ประหนึ่งทาสอาณานิคมของยูเนสโกไม่


ถามว่าหากไม่เอามรดกโลก ขอแค่มรดกท้องถิ่นหรือระดับชาติได้ไหม

คำตอบคือได้ แต่อาจไม่มีคุณภาพดีพอ เพราะคำว่ามรดกท้องถิ่นนั้นมันไม่ท้าทาย ไม่เร้าให้เกิดการผลักดันหรือฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมอย่างเป็นระบบครบวงจร

ทันทีที่เราตกอยู่ภายใต้กรอบของคำว่า "มรดกท้องถิ่น" มักหนีไม่พ้น "วัฒนธรรมจัดตั้ง" งานประเพณีแห่แหนแต่นแต้ตามเทศกาล กลายเป็นการเปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้เป็นช่องทางละลายงบได้ สะดวกขึ้นอีก

หากสังคมไทยมีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมเหมือนอย่างชาวตะวันตก ประเภทพ่อแม่จูงมือลูกอายุ 4 ขวบเข้าชมพิพิธภัณฑ์ในวันหยุด หรือหนุ่มสาวใช้เวลาว่างนั่งอ่านงานวรรณกรรมชิ้นเยี่ยม ถกเถียงกันเรื่องปรัชญา คนเลิกดูละครน้ำเน่าหลังข่าวสองทุ่ม กระทรวงวัฒนธรรมเทงบมหาศาลให้กรมศิลปากรบูรณะซ่อมแซมโบราณสถานที่ผุๆ พังๆ พร้อมสนับสนุนการสำรวจขุดค้นศึกษาวิจัยแหล่งโบราณคดีใหม่ๆ ปีละหลายแสนล้าน เหมือนกับที่กล้าอัดฉีดเงินซื้ออาวุธสงคราม หากประเทศไทยเรามีความศิวิไลซ์ในระดับนี้ ขอโทษเถอะ มรดกโลกก็คงไม่จำเป็นเท่าใดนัก


เราต้องยอมรับความจริงว่า บ้านเมืองไม่เคยให้ความสำคัญต่อโบราณสถานโบราณวัตถุเลย เห็นได้จากการที่เราไม่มี "นักโบราณคดีจังหวัด" กระจายทั่วประเทศ เหมือนกับที่เรามีโยธาฯ จังหวัด ที่ดินจังหวัด พานิชย์จังหวัด ขนส่งจังหวัด

จริงอยู่ แม้ปี 2546 เป็นต้นมา เราเริ่มมีวัฒนธรรมจังหวัดแล้ว แต่ขอบเขตความลึกซึ้งของเนื้องานย่อมแตกต่างไปจากงานด้านโบราณคดี แล้วเพียงพอไหมกับสำนักศิลปากรเพียง 15 แห่ง แต่ละแห่งมีนักโบราณคดี 2-3 คน กับความรับผิดชอบจำนวนโบราณสถาน ทั้งวัดร้าง-ไม่ร้าง ทั้งบนดิน-ใต้ดิน ทั้งขึ้นทะเบียน-ไม่ขึ้นทะเบียน จำนวนหลายหมื่นแหล่งทั่วประเทศ

ด้วยเหตุนี้ คำว่า "มรดกโลก" จึงเสมือนเส้นทางลัดช่วยลดภาระด้านงบประมาณอันจำกัดจำเขี่ยของกรมศิลป์ให้ไปใช้งบจากจังหวัดแทน

ข้อสำคัญ โครงการนี้ยังผลักดันให้เกิดการอนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมวิถีชีวิตแบบองคาพยพ เนื่องจากฐานะของมรดกโลกคล้ายกับต้นไม้ใหญ่ ที่แตกกิ่งก้านสาขาเชื่อมโยงปัญหาอะไรต่อมิอะไรที่ขาดการบูรณาการภายในจังหวัดให้เป็นเนื้อเดียวกัน

ถามว่าเมื่อเป็นมรดกโลกแล้ว เราจะได้อะไร ข้อแรกสุดก็คงได้ศักดิ์ศรีความภาคภูมิใจในฐานะที่ได้สร้างรากฐานความมั่นคง ทางวัฒนธรรมไว้เป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลังเพื่อจะได้มีหลักยึด ไม่เป็นคนไร้ราก อนารยะ

สิ่งที่ตามมาก็คือ เชื่อว่าความเป็นเมืองพระพุทธศาสนาจะหวนคืนกลับมา เหตุเพราะผู้คนตระหนักในคุณค่าของงานพุทธศิลป์ ไม่ถูกตีตราเป็นสินค้าพุทธพาณิชย์ ลดปัญหาการเฝ้าระวังในการลักลอบขุดทำลายโบราณวัตถุจากโบราณสถาน

ได้อะไรอีก หยุดยั้งการขยายตัวของความเจริญทางอุตสาหกรรมแบบไร้ทิศผิดทาง ป้องกันสิ่งแวดล้อมถูกทำลายและการล่มสลายของวิถีชีวิตชุมชน เมืองที่มีความงดงามตระการจะกลับคืนมา ตั้งแต่ประตู คูน้ำ กำแพงเมือง วัด อาคารบ้านเรือน ไม่เป็นเมืองที่เติบโตอย่างสะเปะสะปะ เมื่อเมืองงดงาม จิตใจคนที่อาศัยก็จะได้รับการกล่อมเกลาให้งดงามอ่อนโยนตามไปด้วย

ผลพลอยได้ นักวิชาการจากทั่วโลกจะหันมาให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์และโบราณคดีในเชิงลึก เกิดบรรยากาศคึกคักตื่นตัวในแวดวงการศึกษา ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สามารถควบคุมได้จะหลั่งไหลมาในนามของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ภายใต้การบริหารจัดการของคนในท้องถิ่น

เมื่อมีช่องทางทำกิน คนจากชนบทก็กลับคืนถิ่นไม่ต้องมากระจุกตัวในเมืองหลวง



มรดกโลก-มรดกลวง

ปริศนาโบราณคดีฉบับนี้ ดิฉันคงต้องขอบ่นนอกรอบ หลังเก็บงำกล้ำกลืนกับความจริง งาม-ดี-ลวง บนเส้นทางไปสู่มรดกโลกของเมืองโบราณลำพูน

นับแต่กลางปี 2547 ที่ดิฉันสวมบทหนังหน้าไฟแบกรับภาระนี้ไว้บนสองบ่า ถามว่าวันนี้เดินทางถึงจุดไหน มันควรจะก้าวไกลไปถึงฝั่งฝันแล้ว หากได้รับความจริงใจจากคนทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจกันขับเคลื่อน ไม่ใช่มานั่งระแวงสงสัยกัน หรือคอยปัดแข้งปัดขา และไม่งุบงิบงบ เบี่ยงเบนเอาไปใช้แบบผิดวัตถุประสงค์

จากมรดกโลกพลันกลายเป็น "มรดกลวง"ในบัดดล ทันทีที่ผู้กุมนโยบายรัฐในระดับสูงคนแล้วคนเล่าที่ผลัดเปลี่ยนเวียนวนกัน เอา-ไม่เอา-เอา-ไม่เอา มรดกโลกเมืองลำพูน

บางยุคหยุดชะงักถูกตราหน้าว่า ไม่เจียมตัวเจียมใจ

บางยุคถูกแอบอ้างนำมาเป็นวิสัยทัศน์เพื่อของบเอาไปทำอย่างอื่น

บางยุคขอขยายขอบเขตเป็นมรดกโลกล้านนาอ้างว่าเพื่อยกระดับภูมิภาคนี้ให้โกอินเตอร์ โดยขอให้ลำพูนลดบทบาทตัวเองลงจาก "ตัวแม่" มาเป็น "ตัวลูก" เมืองอื่นเขาอยู่ดีๆ ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ก็ถูกจับพ่วงให้ร่วมเป็นมรดกโลกล้านนาหน้าตาเฉย

ลำพังลำพูนเมืองเล็กๆ เมืองเดียว แถมยังเป็นแอ่งอารยธรรมที่โดดเด่นที่สุดแล้วในด้านศิลปวัฒนธรรมและโบราณคดี ก็ยังผลักดันด้วยความลำบากแสนเข็ญ นี่ยิ่งจะเอาทั้งภูมิภาคล้านนามาเอี่ยว เหมือนจับปูใส่กระด้งไม่ผิดเพี้ยน ยึกๆ ยักๆ ไปๆ มาๆ ก็ต้องนับหนึ่งใหม่ พอเจอทางตันก็เตะลูกออก


7 ปีที่ผ่านมาแม้เราจะได้สร้างรากฐานความมั่นคงทางวัฒนธรรมเป็นแบบอย่างไว้รอบด้านและมากพอสมควร พวกเราได้แต่งบ้านเตรียมเมืองให้พร้อมเกือบทุกด้านแล้ว ทั้งพัฒนาข้อมูลวิชาการควบคู่ไปกับการอนุรักษ์โบราณสถาน

ทว่าความยากของการผลักดันเมืองลำพูนสู่มรดกโลกอยู่ที่กระบวนการสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่ว่ามรดกโลกคืออะไร ชาวบ้านจะได้หรือเสียอะไรหากเป็นมรดกโลก ทั้งพระสงฆ์ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น นักเรียนนักศึกษา พ่อค้านักธุรกิจ ชาวบ้าน สื่อมวลชน ต่างเฝ้ารอคำตอบ เพราะแต่ละฝ่ายกลัวจะสูญเสียผลประโยชน์ส่วนตน

สิ่งที่คอยรบกวนสมาธิจิตใจ ทำให้ลำพูนก้าวไปไม่ถึงมรดกโลกเสียที ก็คือ เอ็นจีโอสลิ่มหัวเหลือง พวกคลั่งท้องถิ่นนิยมไม่กี่คน ผู้สมาทานความคิดประหนึ่งสาวกของนักวิชาการคนดังที่ต่อต้านเรื่องมรดกโลกมาทุกเวที ข้อมูลในแง่ลบถูกยัดใส่สมองคนเหล่านี้

ทำให้ทุกครั้งที่พวกเขาได้ยินคำว่า "มรดกโลก" ก็ต้องตะโกนสวนกลับมาทันทีว่า "มรดกลวง"



เห็นข่าวมรดกโลกกลายเป็นมรดกเลือด พลันให้สะท้อนหัวอก นึกถึง "มรดกเรา" ที่เคยพยายามผลักดันสู่มรดกโลกด้วยจิตบริสุทธิ์อย่างถูลู่ถูกังมานานกว่า 7 ปี ยิ่งมาเจอกระแสมรดกเลือดสาดสยอง เห็นทีคงต้องขอยอมแพ้แก่มรดกลวง

ใครไม่อยากได้มรดกโลกก็ไม่เป็นไร แต่ลองช่วยกันคิดดูหน่อยได้ไหมว่ามีกุศโลบายใดที่เข้าท่ากว่ามรดกโลก มีวิสัยทัศน์ใดที่จะช่วยยกระดับให้ชุมชนหรือสังคมนั้นๆ เกิดกระแสการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างเป็นระบบ

มีไหมกลยุทธ์ใดที่จะทำให้ผู้คนสนใจ ตื่นตัวนั่งล้อมวงเสวนาฟังปราชญ์ชาวบ้าน สืบค้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างครึกครื้น เกิดถนนสายวัฒนธรรมหลายเส้น ทำหน้าที่เป็นเวทีนำเสนอ เรียนรู้ เสวนา พบปะ แลกเปลี่ยน สืบทอดประเพณีวัฒนธรรมวิถีชีวิตอันงดงาม

ทำอย่างไรเอกสารปั๊บสาคัมภีร์ตำนานพื้นบ้านจึงจะได้รับการปริวรรต ภาษาอาหารวิถีชีวิตของทุกชนเผ่าชาติพันธุ์ได้รับการให้เกียรติอย่างเท่าเทียม

ถนนทุกสายมีภูมิสถาปัตย์ที่งดงาม อาคารพานิชย์ไม่ระเกะระกะ บ้านร้างห้องแถวเก่าโทรมได้รับการปรับแต่งใหม่ไม่เป็นทัศนอุจาด ให้สมกับเป็นอดีตเมืองหลวงแห่งวัฒนธรรม รอบในคูเมืองปราศจากอบายมุข เน้นทางเท้าทางจักรยานต้นไม้ใหญ่ สงบร่มเย็น มีการกำหนดผังเมืองเฉพาะแยกเขตเมืองเก่าออกมาให้ชัดเจน สิ่งก่อสร้างสาธารณะ เช่น ซุ้มประตูเมืองมีการศึกษารูปแบบที่มีอัตลักษณ์ท้องถิ่น ไม่ใช่ทำเป็นยี่เกเลียนแบบรัตนโกสินทร์เหมือนกันหมดทั้งประเทศ

ข้อสำคัญ นักเลงพระเครื่องเลิกขุดกรุเจดีย์


ฝัน...ดิฉันเคยฝันถึงมรดกโลก ไม่ว่ามันจะเป็นภาพลวงตา ดิฉันฝันเห็นการร่วมมือทำงานกันของทุกภาคส่วน ซึ่งดิฉันเชื่อว่านี่คือกระบวนการสร้างจิตสำนึกรักท้องถิ่นได้ดีที่สุด จึงเชื่อว่าผู้เฒ่าผู้แก่ จักยังคงร่วมถ่ายทอดภูมิปัญญา งานศิลปะท้องถิ่น วิถีทางพระพุทธศาสนาแก่คนรุ่นหลัง ส่วนเด็กและเยาวชนก็จะเป็นผู้เรียนรู้ที่ดีในฐานะผู้สืบทอดมรดกอย่างมีคุณภาพ

สำหรับดิฉัน ได้เดินทางมาสุดสายแล้ว มีอะไรมากมายที่ไม่เคยรู้ ก็ได้มาเรียนรู้ร่วมกัน ภายใต้กุศโลบายที่ชื่อว่า "มรดกโลก" ณ วันนี้ ลำพูนจักได้หรือไม่ได้เป็นมรดกโลก ไม่ใช่เรื่องแปลก หรือควรเสียอกเสียใจสำหรับดิฉันหรือชาวลำพูนเสียแล้ว

ลาก่อนลำพูน ปฐมอารยนครแห่งล้านนา มรดกโลก มรดกเลือด มรดกเรา และมรดกลวง !

.